ประวัติโรงพยาบาล 

02-528-4567

ประวัติโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

สถานที่ตั้ง

            โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า  เดิมชื่อว่าโรงพยาบาลนนทบุรี  สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ตั้งอยู่เลขที่ 91 ถนนนนทบุรี  ตำบลบางกระสอ  อำเภอเมือง  จังหวัดนนทบุรี  มีเนื้อที่ทั้งหมด มีพื้นที่ทั้งหมด 24 ไร่ 1 งาน 2.6 ตารางวา   เปิดให้บริการวันที่  24  มิถุนายน  2500 เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดในปี พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่พระราชชนนี กรมหลวง พระศรีสุลาลัย  เป็นชาวจังหวัดนนทบุรี

ประวัติเดิมของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

           เดิมจังหวัดนนทบุรี ไม่มีโรงพยาบาลสำหรับช่วยเหลือในการบำบัดและรักษาประชาชนเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้น  จำเป็นต้องนำผู้ป่วยเดินทางไปรับการรักษายังโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดพระนครและธนบุรีซึ่งทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องเสียชีวิตระหว่างการเดินทางจังหวัดจึงพิจารณาเห็นว่าสมควรจัดให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลในจังหวัดขึ้นซึ่งขณะนั้นขุนบุรีภิรมย์กิจผู้ว่าราชการจังหวัดได้เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการโดยติดต่อกับกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขขอตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างและได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมการแพทย์โดยสั่งการให้จังหวัดจัดหาที่ดินเตรียมไว้เมื่อได้งบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้าง

         แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องที่ดินในการก่อสร้าง ซึ่งจากการเจรจากับเจ้าของที่ดินไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกันขุนบุรีภิรมย์กิจผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นก็ได้ออกจากราชการเสียก่อนต่อมาเมื่อปีพ.ศ.2499นายประกอบ ทรัพย์มณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีคนต่อมาได้บริหารงานต่อโดยดำเนินการจัดหาที่ดินเพื่อทำการก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่และเห็นว่าที่ดินของวัดเทพอุรุมพัง(ที่ตั้งโรงพยาบาลปัจจุบัน)มีเนื้อที่ประมาณ16ไร่เศษซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่6ตำบลบางกระสออำเภอเมืองจังหวัดนนทบุรีห่างจากศาลากลางจังหวัดนนทบุรีประมาณ3กิโลเมตรเป็นวัดร้างและอยู่ใกล้กับที่ดินเดิมที่เคยเจรจาไว้เห็นว่าเหมาะสมจะก่อสร้างโรงพยาบาลจึงได้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้น

          เมื่อเปิดดำเนินการใน ปี พ.ศ.2500 ในชื่อโรงพยาบาลพระนนทบุรีนั้น มีอาคารเพียง 2 หลัง คือ อาคารอำนวยการ เป็นตึกชั้นเดียวให้บริการผู้ป่วยนอก และอาคารไม้ชั้นเดียวใช้เป็นหอผู้ป่วย ในระยะแรกประชาชนไม่นิยมมารับบริการ จากโรงพยาบาลนนทบุรีเพราะมีแพทย์และเจ้าหน้าที่น้อย  การคมนาคมไม่สะดวกประชาชนจึงไปรับบริการจากโรงพยาบาลใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานครได้แก่โรงพยาบาลวชิระและโรงพยาบาลศิริราชการเปลี่ยน แปลงทางกายภาพของโรงพยาบาลนนทบุรี เป็นไปอย่างเชื่องช้า ปี พ.ศ.2530ซึ่งโรงพยาบาลเปิดบริการมา30 ปีโรงพยาบาลแห่งนี้ยังใช้อาคาร 2 หลังตั้งแต่เริ่มก่อตั้งให้บริการผู้ป่วยและมีหอผู้ป่วยซึ่งเป็นตึก2ชั้นเพิ่มขึ้นอีก4หลังและมีตึกอำนวยการหลังใหม่เป็นอาคาร2ชั้นในปี พ.ศ.2526

          หลังจากปี พ.ศ.2530  เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นมีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว จังหวัดนนทบุรีซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ได้เปลี่ยนเป็นจังหวัดที่มีบ้านจัดสรรเกิดขึ้นมากมาย มีแรงงานอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ พื้นที่ในการทำสวนลดลง การคมนาคมสะดวกขึ้น มีการตัดถนนรัตนาธิเบศร์  ซึ่งเป็นถนนที่ไปเชื่อมต่อกับถนน  ตลิ่งชัน สุพรรณบุรี  ประชาชนสามารถใช้เส้นทางเส้นนี้เพื่อไปจังหวัดทางภาคเหนือและภาคใต้ได้  การขยายตัวของเมืองและการคมนาคมที่สะดวกขึ้นทำให้มีผู้ป่วยมารับบริการมากขึ้น

          พ.ศ.2532 โรงพยาบาลนนทบุรีได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า  ขณะนั้นโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า    มีจำนวนเพียง 217 เตียง  เจ้าหน้าที่ 530  คน  ผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ  530  คน  ตั้งแต่ พ.ศ.2538  โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างมาก  มีหอผู้ป่วยพิเศษ เฉลิมพระเกียรติ” 4 ชั้น อาคารปฏิบัติการ 5 ชั้น  เพื่อรองรับจำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ในโรงพยาบาลที่มีเพียง 24 ไร่ 1 งาน 2.6 ตารางวา และเต็มไปด้วยอาคารมีที่ว่างน้อยมาก  เมื่อประชาชนมารับบริการมากขึ้น  และกระทรวงสาธารณสุขให้งบประมาณในการก่อสร้างเพิ่มเติม   โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าซึ่งไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้อีก  (ด้านหน้าติดถนนนนทบุรี   ด้านหลังติดแม่น้ำเจ้าพระยา  และด้านข้างถูกขนาบด้วยชุมชนมัสยิดบางกระสอและชุมชนบ้านศาลเจ้า) ต้องรื้อเรือนไม้และตึกอำนวยการหลังแรก  ตึกอำนวยการหลังที่ 2  เพื่อสร้างอาหารเวชศาสตร์ฟื้นฟู  หอผู้ป่วย 8 ชั้น  และอาคารเจษฎาบดินทร์  9  ชั้น 

จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาด้วยพื้นที่ที่คับแคบทำให้โรงพยาบาลสามารรองรับคนไข้ได้เพียง 1,200 คน/วัน แต่ปัจจุบันผู้ป่วยนอก (OPD)ของเรามีคนมาใช้บริการมากถึง 2,400 คน/วัน  ห้องตรวจก็ไม่พอคิวก็ยาวรับยาก็ช้า  หากโรงพยาบาลไม่ขยายหรือพัฒนาศักยภาพ สภาพปัญหาก็จะยังคงดำเนินอยู่เพราะโรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการประชาชนและข้าราชการกระทรวงต่างๆ ในจังหวัดนนทบุรี  โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขที่เข้ามาใช้บริการมากกว่าครึ่งได้  ด้วยเหตุนี้  จึงมีแนวคิดมาอย่างต่อเนื่องในการขยายโรงพยาบาลและพัฒนาศักยภาพ  นอกจากความพร้อมของอาคารสถานที่แล้ว  ยังหมายถึงความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์การแพทย์เฉพาะทางที่มีศักยภาพ คือ ยกระดับโรงพยาบาลให้อยู่ในระดับตติยภูมิระดับสูงอย่างเดียวไม่ได้ต้องทำไปทั้งจังหวัด แนวคิดนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด และ สส.จังหวัดนนทบุรีเข้ามาสนับสนุน  จังหวัดนนทบุรีมีการขยายตัวจนกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรมาอาศัยจำนวนมาก  โดยมีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557  รวม 1,157,399คน  มีประชากรแฝงประมาณ 6 แสนคน  เป็นจังหวัดที่มีการหลั่งไหล่ของประชาชนและแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่เป็นจำนวนมาก  การขยายตัวทางเศรษฐกิจด้านที่พักอาศัย  ศูนย์ราชการต่างๆ ก็มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการขยายเส้นทางการคมนาคม  รถไฟฟ้าสายสีม่วงและการสร้างมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ กาญจนบุรี  เพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งเชื่อมท่าเรือน้ำลึกทวาย  ส่งผลให้จังหวัดนนทบุรีมีความแออัดพอๆ กับกรุงเทพฯ  ซึ่งมีผลกระทบต่อการให้บริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โรงพยาบาลมีภาระงานด้านการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โรงพยาบาลยังมีแผนการเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ และจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัย การพัฒนาศักยภาพแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาให้สามารถบริการถึงระดับชุมชน ดูแลบริการรักษาพยาบาลแบบใกล้บ้านใกล้ใจ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์โรคสำคัญต่างๆ ตามระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) เช่น ศูนย์โรคหัวใจ  ศูนย์ทารกแรกคลอด  ศูนย์โรคไต  ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง  ศูนย์จักษุวิทยา  ศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉิน  อีกทั้งศูนย์การแพทย์ทางเลือกและแพทย์แผนจีน  ซึ่งตรงกับปณิธานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่ทรงส่งเสริมการแพทย์แผนจีน  โดยทางโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเฉิงตู ประเทศจีน ในความตกลงร่วมมือพัฒนางานแพทย์แผนจีนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          ปัจจุบันโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า  มีแพทย์สหสาขาที่มีศักยภาพ  มีความพร้อมในการขยายการให้บริการในสาขาต่างๆ ตามระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของเขตสุขภาพที่ โดยปัจจุบันถือเป็นโรงพยาบาลหลักในการดูแลสุขภาพประชาชนจังหวัดนนทบุรี  จังหวัดในเขตปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ ที่อยู่ในฐานะโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 515 เตียง

ขอบเขตการให้บริการ

          ให้บริการรักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิ  ทุติยภูมิ  และตติยภูมิขั้นต้น  ในด้านการป้องกัน  ส่งเสริม  การรักษาพยาบาล  และการฟื้นฟูสุขภาพ  ด้วยแพทย์เฉพาะทางแก่ประชาชนในจังหวัดนนทบุรีและปริมณฑล

ประชากรในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

          ระดับตำบล 

                    มีประชาชน หมู่ 1 – 5  ตำบลบางกระสอ  อยู่ในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาล จำนวน 71,996 คน  เป็นเพศชาย  34,099 คน  คิดเป็น 47.36%  เพศหญิง  37,897 คน  คิดเป็น 52.64%  อายุ 35 – 60 ปี  29,536 คน  คิดเป็น  41.02%  อายุ 60 ปี ขึ้นไป  10,814 คน  คิดเป็น  15.02%

          ระดับจังหวัด

-       ประชากร                        1,157,399  คน

-       ประชากรแฝงประมาณ            600,000  คน

-       แรงงานต่างด้าวประมาณ          50,000   คน 

          ประชาชนตามสิทธิการรักษา

-       ต้นสังกัด                                155,865  คน

-       ประกันสังคม                           304,631  คน

-   บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า       719,945  คน