แผนการฝึกอบรบแพทย์ประจำบ้าน 

02-528-4567

แผนการฝึกอบรบแพทย์ประจำบ้าน

แผนการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมแบบใช้โรงพยาบาลเป็นฐาน

มาตรฐานคุณวุฒิแสดงความรู้ความชํานาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (มคว.2) สาขาศัลยศาสตร์ สาขาวิชาศัลยกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับ กลุ่มงานศัลกรรม โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า พ.ศ.๒๕๖๕

ภาษาไทย : วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาศัลยศาสตร์

ภาษาอังกฤษ : Diploma of the Thai Board of Surgery

พันธกิจของแผนงานฝึกอบรม

เป็นแผนงานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ที่มุ่งผลิตศัลยแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการทำหัตถการหรือการผ่าตัดตามมาตรฐานของ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยทางศัลยศาสตร์ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ทั้งในด้านโรคทางศัลยศาสตร์ที่เป็นปัญหาที่พบบ่อย (common surgical problem) ภาวะฉุกเฉินทางด้านศัลยศาสตร์ที่สำคัญ (acute care surgery) และผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ (trauma) โดยมีความรู้และทักษะอย่างดีทั้งในการวินิจฉัยโรค การส่งตรวจที่เหมาะสม การแปลผลตรวจวินิจฉัยต่างๆที่สำคัญ การวางแผนเลือกวิธีการรักษา การดูแลผู้ป่วยทั้งระยะก่อนผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังผ่าตัดชนิดต่างๆ การดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤต และการให้การกู้ชีพ อีกทั้งมีความรู้และมีประสบการณ์ในนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอและมีความสามารถในการพิจารณานำมาใช้อย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผล เพื่อพัฒนาให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้มีความสามารถที่ครอบคลุมในด้านการดูแลผู้ป่วยทางศัลยศาสตร์

แผนงานฝึกอบรมมีการบริหารจัดการการฝึกอบรมให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นตามลำดับชั้นปี ให้สามารถในการปฏิบัติงานโดยไม่ต้องมีการกำกับดูแล อย่างเหมาะสม รวมทั้งเป็นผู้ที่มีเจตนารมณ์และเตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีความสามารถในการค้นคว้า การวิพากษ์และนำข้อมูลเชิงประจักษ์ทางการแพทย์มาใช้อย่างเหมาะสม ตลอดจนมีความสามารถด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาตนเองไปสู่ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพหรือนักวิชาการในอนาคตได้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความสามารถในการทํางานตามหลักพฤตินิสัยและมารยาททางวิชาชีพ (professionalism) สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีความเอื้ออาทรและคำนึงถึงความปลอดภัย โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานการดูแลแบบองค์รวม มีความสามารถในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ มีการทำงานเป็นทีม มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงานทั้งในวิชาชีพของตนเองและวิชาชีพอื่นรวมทั้งต่อผู้ป่วยและญาติ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ มีความรู้ความเข้าใจ ในกระบวนการคุณภาพและความปลอดภัยของโรงพยาบาล สามารถมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม รวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนและความรับผิดชอบทางสังคมอื่นๆ ตามความเหมาะสม แผนงานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ สถาบันร่วมฝึกอบรมฯได้กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจโดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้และทักษะอยู่ในระดับมาตรฐานสากล

วิสัยทัศน์

เป็นหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ที่มีคุณภาพสูงระดับประเทศและมีมาตรฐานสากล

พันธกิจ

1. ผลสัมฤทธิ์ของแผนงานฝึกอบรม/หลักสูตร

แผนงานฝึกอบรมมุ่งเน้นให้แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติ และความสามารถขั้นพื้นฐานตามสมรรถนะหลักทั้ง ๖ ด้าน ดังนี้

1.1 การดูแลรักษาผู้ป่วย (patient care)

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องมีผลสัมฤทธิ์ด้านความรู้ ทักษะหัตถการ และเจตคติ ในบริบทของสาขาวิชาศัลยศาสตร์อย่างครบถ้วนจนสามารถให้การบริบาลผู้ป่วย (patient care) ได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสม โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวม คํานึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมทั้งสามารถปฏิบัติงานทางด้านศัลยศาสตร์ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีการกำกับดูแล

1.2 ความรู้และทักษะหัตถการเวชกรรม (medical Knowledge and procedural skills) สามารถทำเวชปฏิบัติได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทของสาขาศัลยศาสตร์

1.2.1 ด้านความรู้ (medical knowledge)

1. มีความรู้เกี่ยวกับโรค การวินิจฉัยและการส่งตรวจ แนวทางการรักษา วิธีการผ่าตัด ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มโรคทางศัลยศาสตร์ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ทั้งกลุ่มโรคที่พบบ่อย (common surgical problem), ภาวะฉุกเฉินทางด้านศัลยศาสตร์ที่สำคัญ (acute care surgery) และผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ (trauma) เป็นอย่างดี

2. มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยระยะก่อนผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัดชนิดต่างๆอย่างเหมาะสม

3. มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤตทางศัลยศาสตร์และการให้การกู้ชีพอย่างเหมาะสม

4. มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยทางศัลยศาสตร์อย่างเหมาะสม

5. มีความรู้ที่ครอบคลุมในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องและประเด็นที่มีความจำเพาะทางด้านการดูแลผู้ป่วยทางศัลยศาสตร์อย่างเหมาะสม

6. มีความรู้และมีประสบการณ์ในนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งรู้แนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอและมีความสามารถในการพิจารณานำมาใช้อย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผล

1.2.2 ด้านทักษะหัตถการ (procedural skills)

1. มีทักษะและประสบการณ์ในการวินิจฉัยโรค การพิจารณาเลือกการส่งตรวจ การอ่านผลและแปลผลตรวจ การเลือกแนวทางการรักษา การเลือกวิธีการผ่าตัด ในกลุ่มโรคทางศัลยศาสตร์ที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ทั้งกลุ่มโรคที่พบบ่อย (common surgical problem), ภาวะฉุกเฉินทางด้านศัลยศาสตร์ที่สำคัญ (acute care surgery) และผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ (trauma) เป็นอย่างดี

2. มีทักษะและประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยทั้งในระยะก่อนผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังผ่าตัดชนิดต่างๆ อย่างเหมาะสม

 

 

3. มีทักษะและประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤตทางศัลยศาสตร์ และทักษะในการกู้ชีพอย่างเหมาะสม

4. มีทักษะและประสบการณ์ในการทำหัตถการพื้นฐานทางศัลยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยอย่างดี

5. มีทักษะและประสบการณ์ในการทำหัตถการการผ่าตัด และการช่วยผ่าตัดที่สำคัญและที่จำเป็นอย่างดีและครบถ้วน

1.3 ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (interpersonal and communication skills)

1.3.1 นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย บันทึกรายงานทางการแพทย์ และอภิปรายปัญหาผู้ป่วยอย่างมี ประสิทธิภาพ

1.3.2 ถ่ายทอดความรู้และทักษะให้แพทย์ นักศึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม

1.3.3 สื่อสารให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีความเมตตา เคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย

1.3.4 มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.3.5 เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำโดยเฉพาะด้านศัลยกรรมแก่แพทย์และบุคลากรอื่นๆ

1.4 การเรียนรู้และการพัฒนาจากฐานการปฏิบัติ (practice - based learning and improvement) โดยสามารถปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพหรือเป็นทีมได้

1.4.1 เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการปฏิบัติงานดูแลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ทั้งด้านการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การพิจารณาส่งตรวจเพื่อการวินิจฉัย การรักษาและการให้คำแนะนำผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถสื่อสารกับพยาบาลและทีมผู้ให้การรักษาได้อย่างเหมาะส

1.4.2 เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการปฏิบัติงานในด้านทักษะการทำหัตการและการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสมตามระดับชั้นปีที่สูงขึ้น

1.4.3 เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถเข้าใจระบบการทำงานภายในโรงพยาบาล การบริหารจัดการ และการทำงานร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆได้อย่างเหมาะสม

1.5 ความสามารถในการทํางานตามหลักวิชาชีพนิยม (professionalism) รวมทั้งคุณลักษณะของความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (continue medical education) หรือการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (continue professional development)

1.5.1 มีพฤตินิสัยและมารยาททางวิชาชีพที่ดี สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีความเอื้ออาทรและคำนึงถึงความปลอดภัย โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานการดูแลแบบองค์รวม

1.5.2 มีพฤตินิสัยและมารยาททางวิชาชีพที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงานทั้งในวิชาชีพของตนเองและวิชาชีพอื่นรวมทั้งต่อผู้ป่วย ญาติและชุมชน

1.5.3 มีความสามารถในการสืบค้นและวิพากษ์ข้อมูลเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ และนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างเหมาะสม

1.5.4 มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการวิจัยทางการแพทย์และสามารถทำวิจัยทางการแพทย์เพื่อ สร้างองค์ความรู้และพัฒนาตนเองไปสู่ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพหรือนักวิชาการในอนาคตได้ สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (continue medical education) หรือการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (continue professional development)

1.6 การทำเวชปฏิบัติให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพ (systems- based practice) มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ ระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยรวมทั้งการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม

1.6.1 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ

1.6.2 มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการคุณภาพและความปลอดภัยของโรงพยาบาล รวมทั้งระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย

1.6.3 มีความรู้ด้านการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์อย่างเหมาะสม รู้ข้อจำกัดในระบบการดูแลผู้ป่วยและสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ

1.6.4 มีความรู้ความเข้าใจในด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนและความรับผิดชอบทางสังคมอื่นๆ ตามความเหมาะสมสามารถทำงานเป็นทีมและเข้ากับระบบสาธารณสุขของประเทศได้

แผนการฝึกอบรม

1. วิธีการให้การฝึกอบรม

สถาบันร่วมฝึกอบรมฯ ได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์การฝึกอบรมที่พึงประสงค์ทั้ง 6 ด้าน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เน้นการฝึกอบรมโดยใช้การปฏิบัติเป็นฐาน (practice- based training) การมีส่วนร่วมในการบริบาลและรับผิดชอบผู้ป่วยโดยคำนึงถึงศักยภาพและการเรียนรู้ของผู้รับการฝึกอบรม (trainee-centered) มีการบูรณาการภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ บูรณาการการฝึกอบรมกับงานบริบาลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

วิธีการให้การฝึกอบรมแบ่งประเด็นการจัดการเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1.1 จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์การฝึกอบรมที่พึงประสงค์ทั้ง 6 ด้าน

1) สมรรถนะการดูแลรักษาผู้ป่วย (patient care)

สถาบันร่วมฝึกอบรมฯได้จัดตารางการฝึกอบรมให้เหมาะสมตามบริบทของสถาบัน โดยวางแผนการฝึกอบรมให้แพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายในสาขาวิชาซึ่งสอดคล้องไปกับหลักสูตรของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์และแพทย์สภา และมีการมอบหมายให้ผู้รับการฝึกอบรมแต่ละชั้นปีมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยอยู่ในความควบคุมของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม โดยมีระยะเวลาการฝึกอบรมในส่วนของศัลยศาสตร์ทั่วไปเป็นเวลาอย่างน้อย 36 เดือน

ก. แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1

แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 จะได้เรียนรู้หลักสูตรพื้นฐานทางศัลยศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมความรู้ ทักษะและประสบการณ์ ซึ่งจะส่งเสริมให้ศัลยแพทย์ได้มีความรู้ความสามารถในการให้การวินิจฉัยและการรักษาเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยทางศัลยกรรมทั่วไปและอนุสาขาอื่นๆ รวมทั้งสามารถให้คำแนะนำและส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางต่อไปได้

แพทย์ประจำบ้านจะได้รับมอบหมายให้เรียนรู้เกี่ยวกับ การดูแลรักษาผู้ป่วยทางศัลยกรรมในระดับที่ไม่ซับซ้อนทั้งในแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมถึงศัลยศาสตร์เฉพาะทางสาขาต่างๆ โดยมีภาระหน้าที่ ดังนี้

1. ออกตรวจโรคทางศัลยกรรมที่ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก

2. ดูแลรักษาผู้ป่วยในร่วมกับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่สูงกว่า

3. ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทางศัลยกรรมที่พบบ่อยและที่มีการวินิจฉัยไม่ซับซ้อนด้วยตนเอง

4. ดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตทางศัลยกรรมร่วมกับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่สูงกว่า

5. ดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการร่วมกับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่สูงกว่าและช่วยแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่สูงกว่าในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ซับซ้อนมากขึ้น

ข. แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2

แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2 จะได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาและการทำผ่าตัดผู้ป่วยทางศัลยกรรมที่มีระดับความซับซ้อนมากขึ้นทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการ รับปรึกษาปัญหาผู้ป่วยนอกแผนกศัลยกรรมรวมถึงมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผู้ป่วยทางศัลยกรรมเฉพาะทางและผู้ป่วยแผนกอื่นที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับศัลยกรรม เช่น สูตินรีเวชกรรม รังสีวิทยา เป็นต้น ภาระหน้าที่ของแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2 ได้แก่

1. ออกตรวจโรคทางศัลยกรรมที่ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก

2. ดูแลรักษาผู้ป่วยในร่วมกับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีอื่น

3. ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทางศัลยกรรมที่พบบ่อยและที่มีการวินิจฉัยไม่ซับซ้อนด้วยตนเอง

4. ดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตทางศัลยกรรมร่วมกับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่สูงกว่า

5. ดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการร่วมกับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่สูงกว่าและช่วยแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่สูงกว่าในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ซับซ้อนมากขึ้น

6. กำหนดให้เหลือระยะเวลาสำหรับวิชาเลือก (elective) ๒ เดือน โดยให้แพทย์ประจำบ้านสามารถเลือกสาขาหรืออนุสาขาฯ ที่แพทย์ประจำบ้านมีความประสงค์จะเรียนรู้เพิ่มเติ่ม

ค. แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3

แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 จะได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาและการทำผ่าตัดผู้ป่วยทางศัลยกรรมที่มีระดับความซับซ้อนมากขึ้นทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการ รับปรึกษาปัญหาผู้ป่วยจากนอกแผนกศัลยกรรมรวมถึงมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผู้ป่วยทางศัลยกรรมเฉพาะทางและผู้ป่วยแผนกอื่นที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับศัลยกรรม ภาระหน้าที่ของแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 ได้แก่

1. ออกตรวจโรคทางศัลยกรรมที่ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก

2. ดูแลรักษาผู้ป่วยในร่วมกับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีอื่น

3. ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทางศัลยกรรมที่พบบ่อยและที่มีการวินิจฉัยไม่ซับซ้อนด้วยตนเอง

4. ดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตทางศัลยกรรมร่วมกับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่สูงกว่า

5. ดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการร่วมกับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่สูงกว่าและช่วยแพทย์ประจำบ้านชั้นที่สูงกว่าในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ซับซ้อนมากขึ้น

6. กำหนดให้เหลือระยะเวลาสำหรับวิชาเลือก (elective) 2 เดือน โดยให้แพทย์ประจำบ้านสามารถเลือกสาขาหรืออนุสาขาฯ ที่แพทย์ประจำบ้านมีความประสงค์จะเรียนรู้เพิ่มเติ่ม

ง. แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 4

แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 4 จะได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาและการทำผ่าตัดผู้ป่วยทางศัลยกรรมทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 4 และเป็นที่ปรึกษาหลักหรือหัวหน้าชุดของแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ต่ำกว่าในการดูแลและรักษาผู้ป่วยทั้งในแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ภาระหน้าที่ของแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 4 ได้แก่

1. ออกตรวจโรคทางศัลยกรรมที่ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก

2. ดูแลรักษาผู้ป่วยในร่วมกับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีอื่นโดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุด

3. ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทางศัลยกรรมที่พบบ่อยและที่มีการวินิจฉัยไม่ซับซ้อนด้วยตนเอง

4. ดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตทางศัลยกรรมร่วมกับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีอื่นโดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดและมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา

5. ดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการร่วมกับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีอื่นโดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุด

6. กำหนดให้เหลือระยะเวลาสำหรับวิชาเลือก (elective) 2 เดือน โดยให้แพทย์ประจำบ้านสามารถเลือกสาขาหรืออนุสาขาฯ ที่แพทย์ประจำบ้านมีความประสงค์จะเรียนรู้เพิ่มเติม

2) ความรู้และทักษะหัตถการเวชกรรม (medical knowledge and procedural skills)

ก. แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 เรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานประยุกต์ (correlated basic medical science) ความรู้พื้นฐานทางศัลยศาสตร์ (fundamental surgery) และวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป รวมทั้งเรียนและปฏิบัติงานในสาขาวิชาเฉพาะทางของศัลยศาสตร์และสาขาวิชาที่สัมพันธ์กับศัลยศาสตร์

ข. แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2 เรียนและปฏิบัติงานในสาขาวิชาเฉพาะทางของศัลยศาสตร์และสาขาวิชาที่สัมพันธ์กับศัลยศาสตร์ รวมทั้งเพิ่มพูนประสบการณ์ในการดูแลและรักษาผู้ป่วยทางศัลยกรรมให้มีความเชี่ยวชาญและแตกฉานมากขึ้น

ค. แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 , 4 เพิ่มพูนประสบการณ์ในการดูแลและรักษาผู้ป่วยทางศัลยกรรมให้มีความเชี่ยวชาญและแตกฉานมากขึ้น

ง. แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปี เข้าร่วมในกิจกรรมทางวิชาการ เช่น Morning report, Interesting case, Morbidity-mortality conference, Journal club, Topic review, Ethic conference เป็นต้น

จ. แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปี ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำหัตถการและการใช้เครื่องมือใหม่ๆทางศัลยกรรม เคยเห็นหรือเคยช่วยหรือได้ทำหัตถการอย่างครบถ้วนตามข้อกำหนดตามรายชั้นปี

3) ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (interpersonal and communication skills)

แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีต้อง

1. เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารกับผู้ป่วยและผู้ร่วมงาน

2. ปฏิบัติงานสอนนิสิต/นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านรุ่นน้อง

3. นำเสนอข้อมูลผู้ป่วยและอภิปรายปัญหาทางคลินิกในกิจกรรมวิชาการ

4. เรียนรู้จากการบรรยาย การอบรมเชิงปฏิบัติการและการปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วย

5. บันทึกรายงานทางการแพทย์ได้ถูกต้องสมบูรณ์

6. ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติได้อย่างเหมาะสม

7. มีทักษะในการทำงานร่วมกับแพทย์สาขาอื่น พยาบาลและบุคลากรอื่นๆ

4) การเรียนรู้และการพัฒนาจากฐานการปฏิบัติ (practice-based learning and improvement)

แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีควร

1. มีการบูรณาการความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีมาใช้ในการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

2. พัฒนาตนเองจากการปฏิบัติงานดูแลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ทั้งด้านการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การพิจารณาส่งตรวจวินิจฉัย การรักษาและการให้คำแนะนำผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถสื่อสารกับพยาบาลและทีมผู้รักษาได้อย่างเหมาะสมตามชั้นปี

3. มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการปฏิบัติงานในด้านทักษะการทำหัตการและการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสมตามที่ระบุไว้ตามชั้นปี

4. มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถเข้าใจระบบการทำงานภายในโรงพยาบาล การบริหารจัดการ และการทำงานร่วมกับสาขาที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆได้อย่างเหมาะสม

5) ความสามารถในการทํางานตามหลักวิชาชีพนิยม (professionalism) รวมทั้งคุณลักษณะของความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (continue medical education) หรือการพัฒนาวิชาชีพ ต่อเนื่อง (continue professional development)

แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีต้อง

1. เข้าร่วมกิจกรรมการให้ความรู้ทางด้านบูรณาการทางการแพทย์ หรือมีประสบการณ์ในการเข้าร่วมประชุมวิชาการที่จัดโดยสมาคมที่เกี่ยวข้องกับสาขาทางศัลยศาสตร์หรือจัดโดยราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

2. พัฒนาตนเองให้มีเจตคติที่ดีระหว่างการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย

3. ต้องทำงานวิจัยทางการแพทย์โดยใช้กระบวนการวิจัยอย่างครบถ้วน ในรูปแบบงานวิจัยretrospective study หรือ prospective study หรือ cross-sectional study อย่างน้อย ๑ เรื่องและเป็นผู้วิจัยหลัก พร้อมทั้งนำเสนอผลงานวิจัยให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาการฝึกอบรม

6) การทำเวชปฏิบัติให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพ (systems - based practice)

แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีควร

1. มีประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับระบบควบคุมคุณภาพของโรงพยาบาล กระบวนการคุณภาพและความปลอดภัยในผู้ป่วยศัลยกรรม การบริหารทรัพยากรที่มีจำกัดและอยู่ในภาวะวิกฤต มีความสามารถที่จะปรับการทำงานให้เข้ากับระบบหลักประกันสุขภาพของชาติ

2. มีประสบการณ์ในการเรียนรู้และการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยจริงทางด้านศัลยศาสตร์ในระบบสุขภาพของประเทศหรือโรงพยาบาลในระดับที่ต้องไปปฏิบัติงานจริงเมื่อสำเร็จการฝึกอบรม

2. การจัดกิจกรรมวิชาการ

กิจกรรมวิชาการที่จัดโดยความร่วมมือและปรึกษาหารือระหว่างแพทย์ประจำบ้านกับอาจารย์แพทย์มีความสำคัญยิ่งในการฝึกอบรมซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบูรณการภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ เพื่อให้การบริบาลผู้ป่วยเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม

แผนงานฝึกอบรมมีการจัดกิจกรรมวิชาการโดยกำหนดล่วงหน้าเป็นรายเดือน มีรายชื่อแพทย์ ประจำบ้านแต่ละชั้นปีและอาจารย์แพทย์ร่วมรับผิดชอบแต่ละรายการ แบ่งกิจกรรมออกเป็น 5 ส่วนดังนี้

1) กิจกรรมวิชาการที่ข้างเตียงผู้ป่วย มี 1 รูปแบบ ได้แก่

1.1 Staff – resident bed side round จัดให้มีสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

1.2 Grand round จัดให้มีสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

2) Morning conference จัดให้มีการประชุมวิชาการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-9.00 น. ได้แก่

2.1 Morning report จัดให้มีสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

2.2 Interesting case จัดให้มีเดือนละ 1 ครั้ง

2.3 Journal club จัดให้มีเดือนละ 1 ครั้ง

2.4 Collective review จัดให้มีเดือนละ 1 ครั้ง

2.5 Morbidity and mortality conference จัดให้มีเดือนละ 2 ครั้ง

2.6 Surgery-Radiology-Pathology conference จัดให้มีเดือนละ 6 ครั้ง

2.7 Trauma audit จัดให้มีเดือนละ 1 ครั้ง

3) Interhospital conference

ส่งเสริมให้แพทย์ประจำบ้านเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการระหว่างสถาบันฝึกอบรมในสาขาวิชาต่างๆ เช่น HPB, colorectal, vascular, breast, head and neck surgery เป็นต้น

4) กิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ

ส่งเสริมให้แพทย์ประจำบ้านเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการที่จัดโดยราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ แห่งประเทศไทยหรือสมาคม ชมรมศัลยแพทย์ด้านต่างๆ

แผนงานฝึกอบรมจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และการปฏิบัติต่อผู้ป่วย ญาติและเพื่อนร่วมงานในด้านจริยธรรมปีละ 3 ครั้งๆละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

2. มาตรฐานผลการเรียนรู้ที่สะท้อนคุณสมบัติและขีดความสามารถ

2.1 กิจกรรมวิชาชีพที่เชื่อถือไว้ใจได้ ( Entrustable Professional Activities

; EPA ) กิจกรรมวิชาชีพที่สำคัญของสาขาศัลยศาสตร์มีเนื้อหาหลักครอบคลุม 4 หัวข้อ ดังต่อไปนี้

(1) การดูแลผู้ป่วยนอก (outpatient) ที่มีโรคทางศัลยกรรม

(2) การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคที่เป็นปัญหาที่พบบ่อยทางศัลยกรรม (common surgical problem)

(3) การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคที่เป็นภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรม (emergency/ acute surgical care)

(4) การดูแลรักษาผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุและการบาดเจ็บทางศัลยกรรม (trauma) แผนงานฝึกอบรมได้กำหนด EPA ที่แพทย์ประจำบ้านต้องผ่านการประเมิน

2.2 ขั้นขีดความสามารถ ( level of entrustment ) โดยจำแนกผลการเรียนรู้และขีดความ สามารถในกิจกรรมวิชาชีพที่เชื่อถือไว้ใจได้ (Entrustable Professional Activities: EPA) แต่ละอย่างเป็น 5 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 สามารถปฏิบัติกิจกรรมได้ภายใต้การควบคุมของอาจารย์อย่างใกล้ชิด

ขั้นที่ 2 สามารถปฏิบัติกิจกรรมได้ภายใต้การชี้แนะของอาจารย์

ขั้นที่ 3 สามารถปฏิบัติกิจกรรมได้โดยมีอาจารย์ให้ความช่วยเหลือเมื่อต้องการ

ขั้นที่ 4 สามารถปฏิบัติกิจกรรมได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องกำกับดูแล

ขั้นที่ 5 สามารถปฏิบัติกิจกรรมได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องกำกับดูแลและควบคุมผู้มีประสบการณ์น้อยกว่าได้

3. เนื้อหาของการฝึกอบรม

เนื้อหาการฝึกอบรมครอบคลุมองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ หัตถการทางศัลยศาสตร์ที่กระทำกับผู้ป่วย การเรียนรู้ทางด้านบูรณาการและจริยธรรมทางการแพทย์

3.1 เนื้อหาการฝึกอบรม

ก. เนื้อหาสำคัญ (essential contents) ประกอบด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับโรคทางศัลยศาสตร์ที่เป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อย (common surgical problem / diseases) และภาวะฉุกเฉินทางศัลยศาสตร์ที่เป็นปัญหาที่สำคัญและการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ (acute surgical care and trauma) โดยครอบคลุมหัวข้อในทุกส่วนอวัยวะตามกลุ่มต่างๆ

ข. ความรู้พื้นฐานที่เป็นหลักการเบื้องต้นของศัลยศาสตร์ เป็นการบูรณาการความรู้พื้นฐานเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมในสาขาศัลยศาสตร์ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์จัดให้มีการอบรมในหลักสูตร fundamental surgery สำหรับผู้ที่จะเข้ารับการฝึกอบรมหรือแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1

ค. หลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นสูง สำหรับผู้ป่วยบาดเจ็บรุนแรง (Advanced Trauma Life Support : ATLS) เป็นหลักสูตรพื้นฐานที่แพทย์ประจำบ้านชั้นปีต้นๆต้องได้รับการอบรมและได้รับประกาศนียบัตรผ่านการอบรม เพื่อเป็นพื้นฐานในการดูแลผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุเบื้องต้นตามมาตรฐานและการดูแลภาวะการบาดเจ็บที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

ง. ความรู้ทั่วไปในสาขาศัลยศาสตร์อื่นๆ และสาขาที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้ผู้รับการฝึกอบรมมีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยร่วมกับสาขาที่เกี่ยวข้องหรือให้การดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1) ความรู้ในสาขาศัลยศาสตร์อื่นๆ ที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยทางศัลยศาสตร์ ได้แก่

1.1 Pediatric surgery

1.2 Urology

1.3 Cardiovascular-thoracic surgery

1.4 Neurosurgery

1.5 Surgical intensive care unit

2) ความรู้ในสาขาศัลยศาสตร์อื่น หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยทางศัลยศาสตร์ ได้แก่

2.1 Plastic surgery

2.2 Anesthesiology

2.3 Radiology

2.4 Pathology

2.5 Orthopedic surgery

2.6 Gynecology

รายละเอียดวัตถุประสงค์ เนื้อหาความรู้และหัตถการที่สำคัญ

3.2 หัตถการทางศัลยศาสตร์

3.2.1 หัตถการทั่วไป แบ่งเป็น 2 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 หัตถการที่แพทย์ประจำบ้านต้องทำได้ด้วยตนเอง

ระดับที่ 2 หัตถการที่แพทย์ประจำบ้านควรทำได้ (ทำภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ)

แต่ละหัตถการในระดับที่ 1 ได้แบ่งระดับความชำนาญออกเป็น 6 ขั้น ดังแสดงไว้ในตาราง procedural skills ได้แก่

ขั้นที่ 1 : เข้าใจในกายวิภาคและขั้นตอนการทำหัตถการ สามารถช่วยผ่าตัดได้

ขั้นที่ 2 : สามารถทำหัตถการได้โดยมีผู้ควบคุมและแนะนำโดยละเอียด

ขั้นที่ 3 : สามารถทำหัตถการได้โดยมีผู้ควบคุมและแนะนำเล็กน้อย

ขั้นที่ 4 : สามารถทำหัตถการได้เองโดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม

ขั้นที่ 5 : สามารถควบคุมชี้แนะผู้อื่นในการทำหัตถการได้

3.2.2 หัตถการที่จำเป็น (essential procedure) ถือเป็นหัตถการที่จำเป็นสำหรับโรคหรือภาวะที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ศัลยแพทย์ที่จบการฝึกอบรมจำเป็นต้องทำหัตถการได้อย่างมั่นใจโดยกำหนดจำนวนที่ต้องได้ทำหรือช่วยทำตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม ดังตารางแสดง

3.3 การเรียนรู้ทางด้านบูรณาการ

ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ฯกำหนดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนที่จะมีสิทธิ์สอบวุฒิบัตรฯจะต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรศัลยปฏิบัติที่ดี (Good surgical practice) และหลักสูตรพื้นฐานศัลยศาสตร์ (Fundamental surgery) ที่จัดโดยราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ฯ เนื้อหาการเรียนรู้ที่กระจายอยู่ในทั้ง ๒ หลักสูตรจะประกอบด้วย องค์ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วย จริยธรรมทางการแพทย์ การทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความรู้ความเข้าใจในระบบงานสาธารณสุขของประเทศ โดยเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

1. การตัดสินใจทางคลินิก

2. การใช้ยาอย่างสมเหตุผล

3. ทักษะการสื่อสาร

4. จริยธรรมทางการแพทย์

5. การสาธารณสุขและระบบบริการสุขภาพ

6. กฎหมายการแพทย์

7. หลักการบริหารจัดการ

8. ความปลอดภัยและสิทธิของผู้ป่วย

9. การดูแลสุขภาวะทั้งกายและใจของตนเอง

10. การแพทย์ทางเลือกที่เกี่ยวข้อง

11. ระเบียบวิจัยทางการแพทย์และเวชศาสตร์ระบาดวิทยาทางคลินิก

12. เวชศาสตร์อิงหลักฐานประจักษ์

13. พฤติกรรมและสังคมศาสตร์ในบริบทของสาขาวิชา

14. ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลก (เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรคสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และอุบัติภัย เป็นต้น)

4. การทำวิจัย

4.1 การอบรมหลักสูตรวิจัยทางศัลยศาสตร์

แพทย์ประจำบ้านทุกคนต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการวิจัย ซึ่งจัดโดยราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้สามารถเข้าใจกระบวนการทำวิจัยและมีความสามารถในการสืบค้นและวิพากษ์ข้อมูลเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ และนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถทำงานวิจัยทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม

4.2 ขอบเขตงานวิจัยสำหรับแพทย์ประจำบ้าน

เนื่องจากความสามารถในการทำวิจัยด้วยตนเองเป็นสมรรถนะหนึ่งที่แพทย์ประจำบ้านศัลยศาสตร์ ต้องบรรลุตามหลักสูตรฯ และผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการประเมินคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับวุฒิบัตรฯเมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรม ดังนั้น แพทย์ประจำบ้านต้องทำงานวิจัยโดยเป็นผู้วิจัยหลัก อย่างน้อย ๑ เรื่อง ในรูปแบบดังต่อไปนี้ ได้แก่ Retrospective study หรือ Prospective study หรือ Cross sectional study หรือ Systematic review หรือ Meta-analysis โดยงานวิจัยดังกล่าวต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน ๔ ปีของการฝึกอบรม

4.3 คุณลักษณะของงานวิจัย ได้แก่

(1) เป็นผลงานที่ริเริ่มใหม่ หรือเป็นงานวิจัยที่ใช้แนวคิดที่มีการศึกษามาก่อนทั้งในและต่างประเทศแต่นำมาดัดแปลงหรือทำซ้ำในบริบทของสถาบันร่วมฝึกอบรมฯ

(2) แพทย์ประจำบ้านและอาจารย์ผู้ดำเนินงานวิจัยทุกคน ควรผ่านการอบรมด้านจริยธรรมการวิจัยในคน และ Good clinical practice (GCP)

(3) งานวิจัยทุกเรื่องต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยฯของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุชลประทานหรือโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

(4) งานวิจัยทุกเรื่อง ควรดำเนินภายใต้ข้อกำหนดของ GCP หรือระเบียบวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสม

(5) เป็นในรูปแบบนิพนธ์ต้นฉบับซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ หรือเป็นในรูปรายงานฉบับสมบูรณ์ตามรูปแบบที่กำหนดโดยราชวิทยาลัยฯ

(6) ผลงานวิจัยได้รับการนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษในที่ประชุมวิชาการของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย การประชุมของสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทยหรือการประชุมวิชาการทางศัลยศาสตร์นานาชาติอื่นๆซึ่งอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯเห็นชอบและรับรอง

4.4 สิ่งที่ต้องปฏิบัติสำหรับการดำเนินการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย

(1) เมื่อได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยแล้วต้องดำเนินการทำวิจัยตามข้อตกลงโดยเคร่งครัด

(2) เมื่อมีการลงนามในเอกสารชี้แจงผู้ป่วยหรือผู้แทนเพื่อให้ยินยอมเข้าร่วมวิจัย ต้องให้สำเนาแก่ผู้ป่วยหรือผู้แทนเก็บไว้ 1 ชุด

(3) ให้ระบุในเวชระเบียนผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในถึงสถานะการเข้าร่วมงานวิจัยของผู้ป่วย

(4) การตรวจหรือรักษาเพิ่มเติมจากโครงการวิจัยที่ผ่านการอนุมัติแล้ว โดยการกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาผู้ป่วยตามปกติ ไม่สามารถทำได้ไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น ยกเว้นได้มีการระบุและอนุมัติในโครงการวิจัยแล้วและผู้วิจัยหรือคณะผู้วิจัยต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย

(5) กรณีที่โครงการวิจัยกำหนดให้ทำการตรวจหรือรักษาที่เพิ่มเติมจากการดูแลรักษาผู้ป่วยตามปกติ หากมีผลลัพธ์ที่อาจส่งผลต่อประโยชน์ในการดูรักษาผู้ป่วย ให้ดำเนินการแจ้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเพื่อวางแผนแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป

(6) หากเกิดกรณีอื่นนอกเหนือการคาดการณ์ ให้รีบปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัยหรือคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย กรณีที่ไม่สามารถปรึกษาได้ ให้ย้อนกลับไปใช้หลักพื้นฐาน 3 ข้อ ของจริยธรรมทางการแพทย์ในการตัดสินใจ คือ

การถือประโยชน์สุขของผู้ป่วยเป็นหลัก และการไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานกับผู้ป่วย

การเคารพสิทธิของผู้ป่วย

การยึดมั่นในหลักความเสมอภาคของทุกคนในสังคมที่จะได้รับบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐาน

4.5 งานวิจัยต้องประกอบด้วยหัวข้อหลักดังนี้

(1) จุดประสงค์ของการวิจัย

(2) วิธีการวิจัย

(3) ผลการวิจัย

(4) การวิจารณ์ผลการวิจัย

(5) บทคัดย่อ

4.6 กรอบเวลาและการติดตามความก้าวหน้ากระบวนการวิจัย

สถาบันร่วมฝึกอบรมฯ ได้จัดให้มีชั่วโมงติดตามงานวิจัยเป็นประจำทุกเดือน โดยเมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา แพทย์ประจำบ้านจะต้องมีความก้าวหน้าทางการวิจัยตามเกณฑ์ที่กำหนด

4.7 การนำเสนอและการตีพิมพ์งานวิจัย

ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์อันเป็นที่ยอมรับของอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบสาขาศัลยศาสตร์หรือสำเนานิพนธ์ต้นฉบับหรือรายงานฉบับสมบูรณ์ตามรูปแบบที่กำหนดโดยราชวิทยาลัยฯ และได้นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษในที่ประชุมวิชาการ ได้แก่ การประชุมนานาชาติ การประชุมของสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย การประชุมของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย หรือการประชุมอื่นๆซึ่งคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ เห็นชอบและรับรองและใบรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์

5. จำนวนระดับชั้นปีของการฝึกอบรม

5.1 ระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งหมด 4 ปี

5.2 แบ่งเป็น 4 ระดับชั้นปี การเลื่อนระดับชั้นปี ต้องผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนด

5.3 การฝึกอบรมเริ่มต้น ทุกวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี อาจปรับเปลี่ยนตามข้อกำหนดของ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยและแพทยสภา

5.4 กรณีไม่ผ่านเกณฑ์การเลื่อนชั้นปี ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องซ้ำชั้นเป็นเวลา 1 ปี โดยแต่ละชั้นปีให้ซ้ำชั้นได้เพียง 1 ครั้ง หากยังไม่ผ่านเกณฑ์การเลื่อนชั้น จะถูกเสนอให้ยุติการฝึกอบรม

6. การบริหารกิจการและการจัดการการฝึกอบรม

ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุชลประทานและโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่บริหารการฝึกอบรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้

(1) คณะกรรมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ ให้เป็นไปตามหลักสูตรที่ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยกำหนด รวมทั้งมีการจัดการด้านต่างๆ เช่น การควบคุมดูแล, การประเมินผลการปฏิบัติงานแพทย์ประจำบ้าน, การสอบ เป็นต้น โดยคณะกรรมการมีวาระการปฏิบัติงาน 4 ปี และจัดให้มีการประชุมทุก 2 เดือน

(2) ประธานการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ มีการแต่งตั้งประธานการฝึกอบรม โดยพิจารณาจากผู้ที่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสาขาศัลยศาสตร์มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

7. สภาพการปฏิบัติงานของแพทย์ประจำบ้าน

สถาบันร่วมฝึกอบรมฯกำหนดหน้าที่และสภาวะการปฏิบัติงานของแพทย์ประจำบ้านให้มีความเหมาะสม โดยเป็นไปตามหัวข้อดังต่อไปนี้

(1) การเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ

(2) ปฏิบัติงานในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ

(3) การลา

(4) การบันทึกเวชระเบียน

(5) การแต่งกาย

(6) ค่าตอบแทน

8. การวัดและประเมินผล

หลักสูตรศัลยศาสตร์ สถาบันร่วมฝึกอบรมฯมีการวัดและประเมินผลแพทย์ประจำบ้านโดยสม่ำเสมอ มีการนำเสนอผลการประเมินในที่ประชุมคณะกรรมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์เป็นประจำทุกสองเดือน พร้อมทั้งได้แจ้งให้แพทย์ประจำบ้านทราบถึงผลการประเมินเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาสมรรถนะของตนเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การวัดและประเมินผลแพทย์ประจำบ้านครอบคลุมทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะการปฏิบัติงาน การทำหัตถการต่างๆ การทำผ่าตัด เจตคติ ความรับผิดชอบและกิจกรรมวิชาการทางการแพทย์ต่างๆ รวมทั้งการวิจัย โดยสถาบันร่วมฝึกอบรมฯได้กำหนดเกณฑ์การประเมินแพทย์ประจำบ้านเพื่อนำมาใช้ในการพิจารณาการเลื่อนชั้นปีและการมีสิทธิ์สอบวุฒิบัตร

8.1 การอบรมหลักสูตรวิจัยทางศัลยศาสตร์

ก. เนื้อหาการประเมิน มีดังต่อไปนี้

(1) การประเมินสมรรถนะหัตถการตามชั้นปี (Key operation) หรือ Procedural based assessment (PBA)

(2) การรายงานประสบการณ์เรียนรู้จากผู้ป่วย: Portfolio หรือ E-log book ตามที่ราชวิทยาลัยกำหนดในแต่ละปีการศึกษา

(3) การเข้าร่วมกิจกรรมประชุมวิชาการทางศัลยกรรม

(4) การประเมินสมรรถนะด้านจริยธรรมความเป็นมืออาชีพ การมีทักษะปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารโดยอาจารย์และผู้ร่วมงาน

(5) การรายงานความก้าวหน้างานวิจัย

(6) การประเมินผลของหน่วยหรือสาขาวิชาต่างๆ (แต่ละ Rotation) ระหว่างการฝึกอบรม

(7) In training (summative) examination

ข. เกณฑ์ผ่านการประเมินและเลื่อนชั้นปี แพทย์ประจำบ้านแต่ละชั้นปีจะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 7 หัวข้อการประเมิน จึงจะสามารถเลื่อนชั้นปีได้ หากไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ละชั้นปี สามารถซ้ำชั้นได้ 1 ครั้ง และเมื่อซ้ำชั้นแล้วยังไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จะถูกเสนอให้พ้นสภาพการเป็นแพทย์ประจำบ้าน

ค. กระบวนการกำกับและการประเมินติดตามผู้เข้ารับการฝึกอบรม คณะกรรมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านได้จัดให้มีการประเมินติดตามผู้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอในทุกๆด้านตามหัวข้อการประเมินและมีการให้และรับข้อมูลป้อนกลับ ( feedback ) เพื่อพัฒนาผู้รับการฝึกอบรม โดยมีการประชุมแพทย์ประจำบ้านร่วมกับคณะกรรมการฝึกอบรมฯ ทุก 2 เดือน

สถาบันฝึกร่วมฝึกอบรมฯได้จัดทำแฟ้มประวัติผลการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลา 4 ปี ของการเป็นแพทย์ประจำบ้านโดยเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ ผลการปฏิบัติงานรายเดือน การประเมินด้านต่างๆ สถิติการเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการ สถิติการลางาน ลาป่วย การถูกลงโทษ ฯลฯ

8.2 การวัดและประเมินผลเพื่อวุฒิบัตรฯ

1) คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เข้ารับการวัดและประเมินผลเพื่อวุฒิบัตรฯ

ผู้มีสิทธิ์สอบวุฒิบัตรฯจะต้องผ่านการฝึกอบรมครบตามหลักสูตรที่สถาบันร่วมฝึกอบรมฯกำหนด ทั้งนี้ระยะเวลาของการฝึกอบรมต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของระยะเวลาตามหลักสูตร

2) เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการวัดและประเมินผลเพื่อวุฒิบัตรฯประกอบด้วย

(1) เอกสารรับรองประสบการณ์ภาคปฏิบัติจากสถาบันฝึกอบรมฯตามที่กำหนด

(2) ผลงานวิจัย 1 เรื่อง

(3) รายงานบันทึกหัตถการ Essential procedure ตามที่กำหนด

(4) รายงานสรุปจำนวนการผ่าตัด Log book ตลอด 4 ปี

(5) ใบรับรองการผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรตามที่กำหนดโดยราชวิทยาลัยฯ

5.1 Certificate of Basic Surgical Research & Methodology

5.2 Certificate of Basic science หรือ Fundamental Surgery

5.3 Certificate of Advanced Trauma Life Support (ATLS)

5.4 Certificate of Good surgical practice

3) วิธีการประเมินประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

ก. การสอบข้อเขียน ต้องผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 ส่วน คือ

1. ปรนัย (Multiple choice question; MCQ)

2. อัตนัย ( เช่น Modified essay question; MEQ, Essay, Short answer question; SAQ, Constructed response essay questions; CREQ)

ข. การสอบปากเปล่า (Oral examination)

ไฟล์ฉบับเต็ม

เอกสารประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์.pdf >>> https://drive.google.com/file/d/1WLt2Zob25vvU4utOM_IWIEpwAvMoWunw/view

เกณฑ์การรับและการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม

หลักเกณฑ์การรับแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

หลักสูตรศัลยศาสตร์มีการกำหนดกระบวนการและหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่โปร่งใสยุติธรรมสามารถตรวจสอบได้ โดยจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นไปตามที่ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ประเมินศักยภาพ

1. คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม

1.1 ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตหรือเทียบเท่าที่แพทยสภารับรองและได้รับการขึ้นทะเบียนการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

1.2 เป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525

1.3 เป็นผู้ที่ผ่านการปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษะเป็นเวลา 1 ปี และได้ปฏิบัติงานชดใช้ทุนตามจำนวนปีที่แพทยสภากำหนดไว้

1.4 เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี

1.5 มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน

1.6 ไม่อยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดีทางอาญา

1.7 มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การรับสมัครแพทย์ประจำบ้าน

2. จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม

ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันฝึกอบรมฯรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ในสัดส่วนตามที่กำหนดในตารางดังต่อไปนี้

 

จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมชั้นปีละ(คน) 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14
จำนวนอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม 2 4 6 8 10 12 14 16 28 20 22 24 26 28
จำนวนผู้ป่วยนอกศัลยกรรม (ราย/ปี ) 20,000 21,000 22,000 23,000 24,000 25,000 26,000 27,000 28,000 29,000 30,000 31,000 32,000 33,000
จำนวนผู้ป่วยในศัลยกรรม (ราย/ปี ) 4,000 4,200 4,600 4,800 5,000 5,200 5,400 5,600 5,800 6,000 6,200 6,400 6,800 7,000
จำนวนผ่าตัดใหญ่ไม่ฉุกเฉิน (ราย/ปี) 1,500 1,575 1,650 1,725 1,800 1,875 1,950 2,025 2,100 2,175 2,250 2,325 2,400 2,475
จำนวนผ่าตัดใหญ่ฉุกเฉิน (ราย/ปี) 800 800 800 850 850 850 900 900 900 950 950 950 1,000 1,000

 

 

 

 

3. การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม

3.1 คณะกรรมการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม

สถาบันร่วมฝึกอบรมฯมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านหลักสูตรศัลยศาสตร์ (ผนวกที่ 20) โดยมีประธานหลักสูตรเป็นประธานและมีกรรมการคัดเลือกเป็นอาจารย์ในแต่ละหน่วยของหลักสูตรศัลยศาสตร์ โดยคณะกรรมการจะต้องอยู่ตั้งแต่เริ่มจนถึงการพิจารณาตัดสินแล้วเสร็จ

3.2 เกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม

คณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านใช้เกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมของสถาบันร่วมฝึกอบรมฯโดยใช้ระบบการให้คะแนนการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ สถาบันฝึกอบรมฯจะแจ้งเกณฑ์ดังกล่าวให้ทราบโดยทั่วกันพร้อมกับการประกาศรับสมัครเพื่อคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมในแต่ละปี ทั้งนี้ การให้คะแนนจะพิจารณาจาก 3 ส่วน ได้แก่

ก) คะแนนรวมจากข้อมูลพื้นฐานของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้แก่

(1) ผลการศึกษารวมในระดับแพทยศาสตรบัณฑิต

(2) ผลการศึกษารวมในรายวิชาศัลยศาสตร์

(3) จำนวนปีที่จบการศึกษา

(4) ต้นสังกัดหน่วยงานรัฐบาลและความขาดแคลนศัลยแพทย์ของพื้นที่

(5) จดหมายแนะนำตัว

(6) มีประสบการณ์การทำงานในสาขาวิชาศัลยศาสตร์ขณะเป็นแพทย์ใช้ทุน

ข) คะแนนรวมจากการสอบสัมภาษณ์ มีเกณฑ์การให้คะแนนตามคุณลักษณะของผู้เข้ารับการคัดเลือก เช่น บุคลิกภาพ ท่าทาง การแต่งกาย ปฏิภาณไหวพริบ ทัศนคติ เป็นต้น

ค) คะแนนจากการสอบข้อเขียน

3.3 การประกาศจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ได้รับการคัดเลือก

คณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านจะประกาศจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ได้รับการคัดเลือกตามเกณฑ์ศักยภาพที่ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยกำหนด โดยในแต่ละปีคณะกรรมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ สถาบันร่วมฝึกอบรมฯ จะมีการประเมินศักยภาพของสถาบันในการกำหนดอัตราการรับแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งจะคำนึงถึงความต้องการทางสาธารณสุขในขณะนั้นด้วย คณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านจะแจ้งจำนวนแพทย์ประจำบ้านที่จะรับเข้าฝึกอบรมต่อผู้สมัครก่อนสมัครเสมอ

3.4 การขอตรวจสอบผลการคัดเลือกเข้า/การอุทรณ์ผลการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม

หลังการประกาศผลการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม ผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกสามารถร้องขอต่อคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน เพื่อขอตรวจสอบคะแนนการคัดเลือกได้ หลังจากการคัดเลือกแล้วเสร็จไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ โดยจะเปิดเผยเฉพาะคะแนนของผู้ที่ร้องขอเท่านั้น